วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2559

บทความที่ 3
มะม่วงมันขายตึก หรือ “มะม่วงแขกขายตึก” อยู่ในวงศ์ ANACARDIACEAE เป็นมะม่วงสายพันธุ์โบราณจัดอยู่ในกลุ่มมะม่วงมันหรือมะม่วงกินดิบชนิดหนึ่ง

 ที่มาของชื่อเกิดจากรสชาติที่อร่อย จึงเปรียบเปรยว่าให้ขายตึกขายบ้านมาทานก็ยอมเลยทีเดียว จัดเป็นมะม่วงพันธุ์ไทยโบราณ ผลรูปกลมรีคล้ายผลมะม่วงมัน หรือมะม่วงแรด แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า เมื่อโตเต็มที่น้ำหนักประมาณ 2 ผลต่อ 1 กิโลกรัม


 คุณพานิชย์ ยศปัญญา บรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เผยว่า มะม่วงพันธุ์นี้มีมานานแล้ว ปลูกกันมา 40-50 ปี ปลูกมากที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ลักษณะเด่นคือ ปลูกง่าย ดูแลรักษาง่าย ถ้าต้นที่เกิดจากการทาบกิ่ง 3 ปีก็เก็บผลได้แล้ว เนื้อผลเยอะสีเหลืองขมิ้น แม้ยังไม่แก่จัด ไม่มีเสี้ยน เมล็ดลีบ ผลดิบสีเขียว รสชาติหวานมันปนเปรี้ยวนิด ๆ กรอบเหมือนมะม่วงมัน นิยมปลูกเพื่อรับประทานผลดิบ ราคาขายตกกิโลกรัมละ 40-50 บาท ในฤดู และขึ้นถึง 80 บาทต่อกิโลกรัม นอกฤดู
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ มะม่วงขายตึก




รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

สำหรับฉบับนี้ทีมงานได้ลงพื้นที่สัญจรไปยังจังหวัดฉะเชิงเทราหรือเมืองแปดริ้วที่มีวัดหลวงพ่อโสธรที่โด่งดังนับถือสักการะของผู้คนทั่วประเทศ แต่เมืองแปดริ้วยังมีชื่อเสียงด้านการผลิตมะม่วงที่มีคุณภาพ ด้วยรสชาติที่หวานหอมและเนื้อนุ่ม ทั้งมะม่วงสุกหรือดิบ ทำให้ครองใจตลาดผู้บริโภคมาช้านาน แถมยังส่งไปขายต่างประเทศได้ในปริมาณที่สูงอีกด้วย

ทว่าการผลิตมะม่วงที่จังหวัดนี้ เหตุใดจึงขายดีและมีผู้สนใจมาก ดังนั้น จึงอยากจะพาท่านผู้อ่านไปไขข้อข้องใจในครั้งนี้กับ เทคโนโลยีชาวบ้าน เสวนาสัญจร  “ทำไม....มะม่วงแปดริ้ว จึงมีชื่อเสียงและขายได้”

แต่ก่อนอื่นควรรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับภาพรวมการผลิตมะม่วงในประเทศ ตลอดจนการผลิตมะม่วงของจังหวัดฉะเชิงเทรา รวมไปถึงควรรู้ด้วยว่า อำเภอใด ที่ผลิตมะม่วงได้อร่อย...ที่สุด

คุณสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ ตำแหน่งเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทราได้ให้รายละเอียดในเรื่องดังกล่าวว่า มะม่วง จัดเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่นิยมปลูกกันมาก เพราะนอกจากจะใช้บริโภคภายในประเทศในรูปผลสด แล้วยังมีการแปรรูปส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยมีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 2.3 ล้านไร่ มีพื้นที่ได้ผลผลิตจำนวน 1.9 ล้านไร่ และได้ผลผลิตปริมาณ 1,312 กิโลกรัม ต่อไร่ พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่แถบจังหวัดนครราชสีมา สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา อุดรธานี อุทัยธานี เชียงใหม่ ขอนแก่น สระบุรี ราชบุรี สระแก้ว ทั้งนี้มีพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมาก ได้แก่ เขียวเสวย น้ำดอกไม้ และแรด

เกษตรจังหวัดยังเปิดเผยอีกว่า สำหรับการผลิตมะม่วงของจังหวัดฉะเชิงเทรานั้นได้รับการยอมรับทางด้านรสชาติ และคุณภาพที่ได้มาตรฐาน และที่สำคัญ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ส่วนมะม่วงที่มีชื่อเสียงของจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ และเขียวเสวย โดยเฉพาะมะม่วงที่ปลูกในอำเภอบางคล้า ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ โดยมีเนื้อที่ปลูกมะม่วง 11,063 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 800 กิโลกรัม ต่อไร่ มีผลผลิตรวม 8,850.40 ตัน เนื่องจากมีคุณภาพดินที่มีความเหมาะสมเพราะเป็นดินเหนียวปนตะกอน มีธาตุอาหารสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกมะม่วง

พันธุ์ที่นิยมรับประทานดิบ ได้แก่ เขียวเสวย ฟ้าลั่น แรด ทวายเดือนเก้า ขายตึก โชคอนันต์ มันขุนศรี และพันธุ์ที่นิยมรับประทานสุก ได้แก่ น้ำดอกไม้เบอร์ 4 น้ำดอกไม้สีทอง อกร่อง และมหาชนก

นอกจากนั้น ยังกล่าวต่ออีกว่า การปลูกมะม่วงของจังหวัดฉะเชิงเทรามีพื้นที่กระจายไปทุกอำเภอ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สูง ที่ดอน และเกษตรกรมีระบบการจัดสวนที่ดี โดยได้รับรองการจัดสวนตามระบบ GAP แล้ว ทั้งนี้ผลผลิตมะม่วงของจังหวัดส่วนใหญ่จำหน่ายในตลาดภายในประเทศ ส่วนตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการลงนามสัญญาซื้อขายมะม่วงเพื่อการส่งออกระหว่างเกษตรกรชาวสวนกับบริษัทผู้ส่งออก ตั้งแต่ ปี 2544 เป็นต้นมา

พันธุ์ที่ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ น้ำดอกไม้สีทอง และกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อการส่งออก ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตมะม่วงส่งออก จังหวัดฉะเชิงเทรา และกลุ่มสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด

ทั้งนี้การตลาดในปี 2554 ที่ผ่านมา ผู้ผลิตทั้ง 2 กลุ่ม มีการจำหน่ายในตลาดภายในประเทศ อาทิ ตลาดท้องถิ่น ห้างสรรพสินค้าคิดเป็นมูลค่าประมาณ 25.8 ล้านบาท และมีการส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 40.05 ล้านบาท และส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นมากเป็น อันดับ 1

อย่างไรก็ตาม ยังมีการส่งเสริมเกษตรกรทั่วไปให้มีการรวมกลุ่มกันมากขึ้น พร้อมกับเชื่อมโยงพันธมิตรเครือข่ายต่างจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว และจันทบุรี เพราะจะมีผลทำให้ยอดการผลิตมะม่วงส่งออกโดยรวมไม่ลดลง หากพื้นที่ปลูกมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทราเกิดปัญหาประสบภัย

ในปัจจุบัน พื้นที่ปลูกมะม่วงของจังหวัดฉะเชิงเทรามีทั้งสิ้น 41,248 ไร่ เนื้อที่ให้ผลผลิต 35,447 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 639 กิโลกรัม ต่อไร่ ผลผลิตรวม 22,674 ตัน มีมูลค่าประมาณ 473.22 ล้านบาท จำนวนเกษตรกรที่ปลูกทั้งสิ้น 7,329 ราย ปลูกมะม่วงได้ในทุกพื้นที่ทุกอำเภอในจังหวัด สำหรับพื้นที่ผลิตเพื่อการส่งออก ได้แก่ บางคล้า ราชสาส์น แปลงยาว พนมสารคาม สนามชัยเขต ท่าตะเกียบ และคลองเขื่อน

สถานการณ์ทางด้านการตลาดมะม่วงของจังหวัดฉะเชิงเทรา ในปี 2555 นั้น เกษตรจังหวัดเปิดเผยว่า ถ้าเป็นตลาดภายในประเทศนั้นในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน จะมีผลผลิตมะม่วงออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก อาจทำให้ราคามะม่วงตกต่ำ โดยมีราคาประมาณ 25-35 บาท ตามคุณภาพของผลผลิต และถือว่าเป็นไปตามกลไกตลาด

ดังนั้น ทางจังหวัดจึงมีการช่วยเหลือเกษตรกรในการระบายผลผลิตมะม่วงด้วยการจัดงานมหกรรมมะม่วงในท้องถิ่น อันได้แก่ งานวันมะม่วงและของดีอำเภอพนมสารคามเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ต่อด้วยงานเทศกาลมะม่วงและของดีเมืองบางคล้าเมื่อเดือนมีนาคม และงานใหญ่อีกงานซึ่งถือเป็นงานประจำจังหวัด ได้แก่ งานวันมะม่วงและของดีเมืองแปดริ้ว ครั้งที่ 42 ที่จัดขึ้น เมื่อวันที่ 2-12 เมษายน ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้มีโครงการจัดตลาดนัดมะม่วงอยู่ตลอดเวลาบริเวณเส้นทางฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม เป็นตลาดจำหน่ายมะม่วงขนาดใหญ่ของเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นการจัดตลอดทั้งปี

ส่วนตลาดต่างประเทศนั้น เมื่อเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา ทางสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด ได้มีการทำสัญญาซื้อขายมะม่วงล่วงหน้ากับบริษัทภาคเอกชน ผู้ส่งออกมะม่วง คิดเป็นผลผลิตประมาณ 2,800 ตัน

“ประเด็นที่ต้องการจะชูให้คนทั่วไปสนใจมาเที่ยวที่จังหวัดฉะเชิงเทราคือ ความพยายามทำให้รู้สึกว่าเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้มาก และสามารถมาเที่ยวแบบวันเดียวได้ครบทุกอย่าง ชนิดมาวันเดียวเที่ยวกลับได้ อาจเริ่มต้นด้วยการมาไหว้หลวงพ่อโสธร แล้วต่อด้วยการท่องเที่ยวตามแหล่งต่างๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นด้านธรรมชาติหรือสวนผลไม้

ที่สำคัญอย่างมากคือ ชุมชนที่มีการวางแผนไว้ต้องมีความเข้มแข็งก่อน จะรอให้ทางภาครัฐป้อนให้อย่างเดียวไม่ได้ พวกเขาต้องสร้างกันเอง และเมื่อทุกอย่างพร้อมก็จะเริ่มมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกช่องทางและผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” เกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรากล่าวปิดท้าย

ภายหลังที่ได้พูดคุยกับทางเกษตรจังหวัดเป็นที่เรียบร้อย และสามารถมองเห็นภาพรวมของการประกอบอาชีพมะม่วงชาวจังหวัดฉะเชิงเทราได้อย่างครบวงจรแล้ว จากนั้นทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านได้เดินทางไปที่บริเวณลานจอดรถปั้นทรายโลกและเป็นสถานที่กำหนดให้เป็นที่จัดงาน “วันมะม่วงและของดีเมืองแปดริ้ว” ซึ่งเป็นงานใหญ่ระดับจังหวัดที่จัดขึ้นทุกปี และครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 42 เพื่อจัดตั้งวงเสวนาสัญจรในประเด็น “ทำไม....มะม่วงแปดริ้ว จึงขายได้”          

ทั้งนี้ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้รับเกียรติจาก คุณศักดิ์ชัย ศรีสุวรรณ ตำแหน่งนักวิชาการเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการในการเสวนาสัญจรครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ก่อนเวทีการเสวนาจะเริ่มต้นขึ้น ในฐานะนักวิชาการเกษตรประจำจังหวัดมีข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกมะม่วงของเกษตรกรในจังหวัดฉะเชิงเทรา คร่าวๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเสวนา         

คุณศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากการที่ตัวเองได้คลุกคลีกับการปลูกมะม่วงมาหลายจังหวัด พบว่า ข้อได้เปรียบของเกษตรกรชาวจังหวัดฉะเชิงเทราในการประกอบอาชีพปลูกมะม่วงคือ สภาพดินและน้ำ เพราะเป็นดินตะกอนที่มีความเค็มเล็กน้อย เป็นน้ำกร่อย ข้อได้เปรียบเช่นนี้จึงทำให้ผลผลิตมะม่วงของจังหวัดฉะเชิงเทรามีรสชาติหวาน เนื้อนุ่ม และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างมาก

นักวิชาการเกษตรกล่าวต่ออีกว่า จังหวัดฉะเชิงเทรามีการปลูกมะม่วงอยู่ในอันดับต้นของประเทศไทย มีผลผลิตปีละ 2-3 หมื่นตัน เพราะเป็นมะม่วงที่มีคุณภาพและรสชาติหวาน เนื้อนุ่ม ไม่มีโรคแมลงมารบกวน จึงทำให้ผิวสวย ขณะเดียวกันในแต่ละปีจะมีผลผลิตที่สูงมาก

ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องหาวิธีช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมะม่วงด้วยการจัดงานและมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่ออย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะเป็นการช่วยเหลือในการกระจายพร้อมกับระบายผลผลิตออกสู่ตลาดให้มากที่สุด ลดปัญหาการขาดทุนอันเกิดจากผลผลิตล้นตลาดและเน่าเสีย อีกทั้งเกษตรกรบางรายยังสามารถหาซื้อกิ่งพันธุ์ที่มีคุณภาพ ในราคาถูก ด้วยการแนะนำโดยตรงจากผู้ผลิตกิ่งพันธุ์

ดังนั้น ในงาน “วันมะม่วงของดีเมืองแปดริ้ว” ที่จัดขึ้นและผ่านมาแล้ว จึงเป็นการจัดงานแสดงมะม่วงที่ครบวงจรและสมบูรณ์แบบ มีคุณภาพสินค้าที่กล้ารับประกัน ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคและเกษตรกรชาวสวนอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ได้เชิญผู้แทนชาวสวนมะม่วงรายใหญ่ของจังหวัดฉะเชิงเทราที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านการปลูกและจำหน่าย จำนวน 2 ท่าน แล้วยังมีตำแหน่งในการบริหารงานสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด ได้แก่ คุณสุวิทย์ คุณาวุฒิ ตำแหน่งรองประธานสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด และ คุณสุกิจ นพฤทธิ์ ตำแหน่งผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด มาร่วมพูดคุยในวงเสวนาครั้งนี้เพื่อให้เกิดมุมมองในหลายมิติ ได้รับรู้ถึงวิธีการปลูกมะม่วงอย่างไร จึงประสบความสำเร็จ ปัญหาที่พบจริงด้วยตัวเองด้านการปลูก รวมไปถึงวิธีการบริหารจัดการทางการตลาดให้ประสบความสำเร็จ

คุณศักดิ์ชัย-อยากทราบว่าในประเทศไทยมีมะม่วงที่ดีมีคุณภาพ พันธุ์อะไรบ้าง?
คุณสุวิทย์-ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ประเทศไทยเรามีมะม่วงหลายสายพันธุ์มาก ทั้งที่เก่าแก่และสมัยใหม่ เพราะตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษก็ปลูกกันมา จะมีความแตกต่างจากสมัยปัจจุบันตรงที่ในสมัยก่อนที่นิยมกัน ได้แก่ พันธุ์อกร่อง พิมเสน ขายตึก พันธุ์เหล่านี้ในปัจจุบันได้รับความนิยมน้อยลง และบางพันธุ์หายไป หรือบางพันธุ์มีการนำมาปรับปรุงใหม่ เช่น พันธุ์ขายตึก หรืออย่างพันธุ์อกร่องที่พยายามนำกลับมาทำใหม่เพื่อให้ออกนอกฤดู แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมะม่วงในฤดูมีปริมาณมาก ทำให้ราคาตก แต่อย่างไรก็ตาม หากสามารถทำได้ก็จะประสบความสำเร็จเรื่องราคา เพราะเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว

ทางด้านสายพันธุ์ก็มีการเปลี่ยนแปลงไป อย่างที่เป็นพันธุ์ยอดนิยมเวลานี้คือ น้ำดอกไม้ ที่ยังคงครองแชมป์ทั้งขายภายในและส่งออกไปต่างประเทศในกลุ่มของมะม่วงสุก หากเป็นมะม่วงดิบก็มีหลายสายพันธุ์ เช่น เขียวเสวย ที่มียอดการส่งไปขายที่ประเทศเวียดนามในแต่ละปีสูงมาก หากคิดเป็นวันก็ส่งไปขายวันละประมาณ 500 ตัน

ซึ่งข้อมูลอย่างนี้ทางราชการไม่รู้ และมักบอกว่าส่งออกน้อย ซึ่งก็ไปใช้ตัวเลขการส่งออกไปที่ญี่ปุ่นหรือทางยุโรป ซึ่งก็มีจำนวนน้อยจริง เพราะมีเกณฑ์มาตรฐานการคัดเลือกละเอียดมาก หากมาดูการส่งไปจำหน่ายในแถบประเทศเพื่อนบ้านจะสูงมาก เพราะพฤติกรรมการบริโภคของประเทศเพื่อนบ้านเหมือนกันอย่างไร สามารถขายเป็นมะม่วงดิบได้ การรับประทานเช่นเดียวกัน เหมือนกัน

สายพันธุ์ที่ส่งไปขายส่วนมาก ได้แก่ เขียวเสวย ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ และฟ้าลั่น ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ อันนี้คือที่เวียดนาม หากเป็นประเทศมาเลเซียส่งไปขายปีละหลายหมื่นตันเช่นกัน อย่างที่บอกว่าทางราชการไม่นำตัวเลขที่ประเทศอื่นมาอ้างอิงด้วย แต่ความจริงส่งออกปีละหลายหมื่นตัน มิเช่นนั้นมะม่วงภายในประเทศที่ผลิตออกมาจะขายหมดได้อย่างไร




http://www.trironk.net/w0257/12kamol/test10.htm






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น